ข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษา

วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี2

ได้รับการประกาศตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 โดย ฯพณฯสุขวิช รังสิตพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น โดยเป็นสถานศึกษาหนึ่งในจำนวน 18 แห่ง ตามโครงการขยายวิทยาลัยเทคนิคแห่งใหม่ในสังกัดกองวิทยาลัยเทคนิคกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ

ตามเป้าหมายดั้งเดิมนั้นวิทยาลัยฯ จะดำเนินการจัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี แต่ได้ย้ายมาดำเนินการจัดตั้งในสถานที่แห่งใหม่ เป็นครั้งที่ 2 ที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในระยะหนึ่ง แต่อันเนื่องด้วยบริเวณดังกล่าวนั้น อยู่ห่างจากจุดที่ทางกองสรรพาวุธทหารบก มาทำลายวัตถุระเบิดของทางการทหาร ไม่มากนักและเพื่อความปลอดภัย ทางกองวิทยาลัยเทคนิค จึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนแปลงสถานทีจัดตั้งให้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าแหล่งอุตสาหกรรมหลักๆ ของทางจังหวัดราชบุรีนั้น อยู่บริเวณ อำเภอบ้านโป่ง ค่อนข้างมากและหนาแน่น มีโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความต้องการทางด้านบุคลากรทางด้านวิชาชีพช่างอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมค่อนข้างสูง

จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะได้จัดตั้งสถานศึกษาเพื่อรองรับในภาคอุตสาหกรรมของทางจังหวัดราชบุรีขึ้นที่นี่ จึงได้ให้ย้ายมาดำเนินการจัดตั้ง และก่อสร้างสถานศึกษาขึ้น ในพื้นที่ ตำบลคุ้งพะยอม อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ห่างจาก วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ประมาณ45กิโลเมตร ซึ่งแรกเริ่มเดิมที่ได้ใช้ชื่อสถานศึกษาว่า“วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี แห่งที่ 2“ แต่ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนชื่อสถานศึกษาจากเดิม คือ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี แห่งที่ 2 เป็น “วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน เนื้อที่ที่ใช้ในการจัดตั้งสถานศึกษานั้น เดิมเป็นลำน้ำ ของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ตื้นเขินขึ้นหลังจาก มีการก่อสร้างเขื่อนขึ้น ในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2514 ทำให้ลำน้ำ ของแม่น้ำแม่กลองนั้น เปลี่ยนทิศทางการไหล ทำให้ พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะ เป็นคุ้งน้ำคล้ายถุง เกิดเป็นเกาะกลางน้ำขึ้น และได้ตื้นเขินขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้กลางเป็นเป็นเพียงลำน้ำเล็กๆไหลลงไปบรรจบลำแม่น้ำหลักๆ ที่บริเวณข้างเคียงกับวัดตาลปากลัด จึงทำให้มีเนื้อที่มาก่อตั้งเป็นสถานที่มาก่อตั้งเป็นสถานที่ของวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2ขึ้น โดยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 450 ไร่ แต่ทางจังหวัดราชบุรี ได้พิจารณาอนุญาตให้ใช้เป็นพื้นที่ของสถานศึกษาประมาณ300ไร่ ซึ่งแต่เดิมจะเป็นสถานที่ที่ใช้ในการก่อตั้งวิทยาเขตของทางสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน (โรงเรียนช่างกลปทุมวัน) แต่ทางสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันได้ยกเลิกการก่อตั้งในสถานที่นี้ ทางกองวิทยาลัยเทคนิค จึงได้พื้นที่นี้มาก่อตั้งเป็นพื้นที่ ที่ตั้งอยู่ในเขตของ หมู่ที่1และหมู่ที่2 ตำบลคุ้งพยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 ภายใต้การนำโดยท่าน ผอ.นิวัฒน์ ภิรมย์สุข ผู้อำนวยคนแรกของทางวิทยาลัยฯ ได้ก่อตั้งสำนักงานชั่วคราวของทางวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 ขึ้นที่ภายในบริเวณวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชุรี และได้เริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาขึ้นครั้งแรก ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2541 ในสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง ในระดับ ปวส. โดยรับเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาในระดับชั้น ปวช.3 ในสาขาช่างไฟฟ้าเท่านั้น และได้ตั้งศูนย์การเรียนชั่วคราว ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี และใช้คณะครูอาจารย์จากทางวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ขณะนั้นสถานที่ก่อตั้งอยู่ในช่วงการดำเนินการก่อสร้าง ยังไม่แล้วเสร็จดี และยังไม่มีบุคลากรทางด้านสายการสอน วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 ได้เริ่มเปิดดำเนินการต่างๆ ขึ้นในสถานที่นี้เป็นครั้งแรกในภาคเรียนที่ 1ปีการศึกษา 2542 โดยรับครูผู้สอนจากการโอนย้ายของข้าราชการครูและเปิดรับสมัครครูจ้างสอนเป็นของตัวเอง และยังได้นำคณะนักศึกษา ระดับ ปวส. สาข่างไฟฟ้ากำลัง ที่ได้รับเข้ามาศึกษา เมื่อภาคเรียนที่2/2541 ย้ายมาดำเนินการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ในปัจจุบัน และพร้อมกับเปิดรับศึกษาใหม่ ในระดับ ปวส. ขึ้นไป

โดยรับจากผู้ที่จบการศึกษาการศึกษาในระดับ ปวช.3และ ม.6 หรือเทียบเท่าในสายวิชาช่างอุตสาหกรรม และสายพาณิชยกรรม 4 สาขาวิชา ดังต่อไปนี้(เปิดรับเฉพาะในระดับ ปวส.เท่านั้น)

  1. สาขาไฟฟ้ากำลัง
  2. สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์
  3. สาขาวิชาการบัญชี
  4. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

ในปีการศึกษา2545จึงได้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาเพิ่มเติมเป็นดังนี้คือ
(เปิดรับเฉพาะในระดับ ปวส.เท่านั้น)

  1. สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง
  2. สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์
  3. สาขาวิชาการบัญชี
  4. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
  5. สาขาวิชาช่างยนต์

ในปีการศึกษา2546 ได้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาเพิ่มเติมอีกเนื่องด้วยทางโรงงานไทย เบตเตอร์ฟู๊ดส์ มีความต้องการบุคลากรทางด้านแมคคาทรอนิกส์ขึ้น จึงเพิ่มเป็นดังนี้คือ
(เปิดรับเฉพาะในระดับ ปวส.เท่านั้น)

  1. สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง
  2. สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์
  3. สาขาวิชาการบัญชี
  4. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
  5. สาขาวิชาช่างยนต์
  6. สาขาวิชาช่างแมคคอทรอนิกส์ในระบบทวิภาคี(เปิดแค่รุ่นเดียว)

ต่อมาในปีการศึกษา2547 ท่านผอ.ประกอบ ศรีตระกูล ผู้อำนวยการในขณะนั้น ได้มีนโยบายในการที่จะเพิ่มผู้เรียนของทางวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 ให้เพิ่มมากขึ้น จึงได้นำเรื่องไปดำเนินการขออนุญาตกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และได้รับอนุญาตให้ทางวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 สามารถเปิดรับนักศึกษาเพิ่มเติมในระดับ ปวช. ได้ หลังจากที่เปิดรับแต่ในระดับ ปวส.เพียงอย่างเดียว ดังสาขาต่อไปนี้

หลักสูตร ปวช.

  1. สาขาวิชาช่างยนต์
  2. สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง
  3. สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์
  4. สาขาวิชาการบัญชี
  5. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

หลักสูตร ปวส.

  1. สาขางานยานยนต์
  2. สาขางานติดตั้งไฟฟ้า
  3. สาขางานอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม
  4. สาขางานการบัญชี
  5. สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

ต่อมาได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โดยวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี2 ได้ร่วมมือกับทางสถานะประกอบการทางด้านโรงงานอุตสาหกรรมการต่อตัวถังรถโดยสารมาดำเนินการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนทางช่างต่อตัวถังฯขึ้น โดยเปิดการเรียนการสอน ทั้งในระดับ ปวช. และระดับ ปวส. โดยในปัจจุบันทางวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี2 ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนดังนี้

ระดับ ปวช.
(อุตสาหกรรม)

  1. สาขางานยานยนต์
  2. สาขางานเครื่องมือกล
  3. สาขางานไฟฟ้ากำลัง
  4. สาขางานอิเล็กทรอนิกส์

ระดับ ปวช.
(พาณิชยกรรม)

  1. สาขางานการบัญชี
  2. สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

ระดับ ปวส.
(อุตสาหกรรม)

  1. สาขางานเทคนิคยานยนต์
  2. สาขางานไฟฟ้ากำลัง
  3. สาขางานอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม

ระดับ ปวส.
(บริหารธุรกิจ)

  1. สาขางานการบัญชี
  2. สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
  3. สาขางานธุรกิจการบริการยานยนต์

สีประจำวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี2 คือ สีขาวและสีเลือดหมู

สีขาว คือสีของดอกมะลิ ซึ่งดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ สะอาดเรียบง่ายและยังหมายถึงความนอบน้อมถ่อมตน

สีเลือดหมู คือสีขององค์พระวิษณุ พระผู้สร้างแห่งโลกา เป็นพระบิดาแห่งวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม อันเป็นที่เคารพและบูชาของช่างทั้งหลายทั้งปวง เพราะพระองค์ท่านเป็นนายช่างใหญ่แห่งสรวงสวรรค์และยังเป็นเทพผู้สร้างดาวเหนือ

ดอกไม้ประจำวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 คือ ดอกแก้วเจ้าจอม เนื่องด้วยสมัยนั้น ท่านจรูญ ชูลาภ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรรมอาชีวศึกษา ได้มาทำพิธีเปิดวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 และได้ร่วมปลูกต้นแก้มเจ้าจอมไว้ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกกับทางวิทยาลัยฯ จึงได้นำเอา ดอกแก้วเจ้าจอม มาเป็นดอกไม้ประจำวิทยาลัยฯเพื่อเป็นเกียรติแก่ ท่านจรูญ ชุลาภ อดีตอธิบดีกรมอาชีวศึกษาในสมัยนั้น ที่ท่านได้มาปลูกไว้ ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 แห่งนี้

^